จุฬาฯ 19 ก.ค.-นักวิชาการคณะวิทย์ จุฬาฯ
อยากให้ขยายผลสอบ GT 200
เป็นการถูกฉ้อโกง เพราะคนผิดจริง ๆ
คือ คนที่มาหลอกขาย
แต่คนซื้ออาจทำไปด้วยเจตนาสุจริตใจ ระบุตอนนี้ดีเอสไอชี้มูลแค่การฮั้วประมูล
พร้อมเปิดเผยควรตรวจสอบเสื้อเกราะที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ปลอดภัย
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT
200 และ ALFA 6
ว่ามีความผิดพลาดในการตรวจหาวัตถุระเบิด เปิดเผยกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(ดีเอสไอ) สรุปผลการสอบสวนกรณีทุจริตการจัดซื้อ เครื่องตรวจวัตถุระเบิด
GT 200 และ ALFA 6
พร้อมทำหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐ 13 แห่งว่า
อาจถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกงจากบริษัทผู้ขายและผู้ผลิตในต่างประเทศว่า
เรื่องดังกล่าว หากมองว่าเป็นการดำเนินการที่ล่าช้าไปหรือไม่ ต้องยอมรับว่าล่าช้า
เพราะสำนักข่าวต่างประเทศได้มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวมากว่า 3 ปีแล้ว
ขณะนี้ตำรวจอังกฤษเพิ่งจะนำตัวเจ้าของส่งฟ้องศาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ประเด็นที่ดีเอสไอชี้มูลความผิด
ยังเป็นแค่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่มีราคาแพง และเข้าข่ายการฮั้วประมูล แต่ยังไม่สรุปว่าเป็นลักษณะของการฉ้อโกง
ผศ.ดร.เจษฎา เปิดเผยว่า
โดยส่วนตัวคิดว่าความเข้าใจเรื่องนี้ยังคลาดเคลื่อน
การออกไปยอมรับผิดหรือประกาศเลิกใช้เครื่องดังกล่าว ทั้งที่ผลการตรวจสอบทั้งของต่างชาติ และประเทศไทย
ก็ชี้ชัดเจนว่าเครื่องดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ การขายเครื่องดังกล่าวจึงเข้าข่ายการฉ้อโกง
อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ตามตรวจสอบคนที่ซื้อมาใช้เพราะเชื่อว่าทำไปโดยสุจริตใจ และคนผิดจริงๆ คือคนที่มาหลอกขาย และอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์และเป็นบรรทัดฐานให้การจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือสำคัญต่างๆ
ของหน่วยงานรัฐจะต้องมีการพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพ ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่
หากไม่มั่นใจ ควรจะตรวจสอบซึ่งกันและกันในหน่วยงานที่จะมีการจัดซื้อเช่นเดียวกัน และควรใช้กลไกที่มีอยู่เข้าไปตรวจสอบหรือขอความร่วมมือจากนักวิชาการ เช่น
กระทรวงกลาโหม
มีสถาบันเทคโนโลยีทหาร สามารถตรวจสอบได้
"ผมมองว่าการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องของประสิทธิภาพที่น่าห่วงที่สุดตอนนี้คือเสื้อเกราะ ซึ่งมีความจำเป็น
ในหลายหน่วยงานและขาดแคลนอยู่ เช่น
ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
ที่กำลังถูกสับเปลี่ยนไปดูแลเขาพระวิหาร
เสื้อเกราะ
ที่เจ้าหน้าที่ใช้อยู่พบว่าหลายตัวก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่
อยากให้หน่วยงานรัฐหางบประมาณเข้าไปดูแล
ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย" อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
กล่าว .- สำนักข่าวไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น